เรื่องราวของไร่ดินดีใจ
June 24, 2011การเดินทางของน้ำมันงา
July 2, 2011
แชมพูทั่วไปมีส่วนผสมของอะไรบ้าง
ส่วนประกอบหลักของแชมพูและสารทำความสะอาดต่างๆในปัจจุบันมาจากสารซักฟอก (detergent) ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ซึ่งได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม ตัวอย่างเช่น สาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate ) สารนี้มีโมเลกุลขนาดเล็กมาก สามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายและกระแสเลือดได้ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้หากเข้าสู่ร่างกายของเรา และไม่สามารถขับถ่ายออกได้หมดจะเกิดการตกค้างสะสมอยู่ในอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต และกระแสเลือด และอาจก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ อย่างเช่นมะเร็ง[1] ซึ่งสารซักฟอกเหล่านี้จะไปล้างไขมันธรรมชาติที่ช่วยเคลือบผมและหนังศีรษะจนหมด เมื่อไขมันที่เคลือบเส้นผมและหนังศีรษะถูกล้างไปจนหมด ต่อมน้ำมันธรรมชาติจะสร้างน้ำมันมาโชลมเส้นผมมากขึ้น ยิ่งสระผมบ่อย ต่อมน้ำมันก็จะผลิตน้ำมันออกมามากจนผมมันเยิ้มไปหมด เราก็ยิ่งสระผมบ่อยขึ้น จนนานเข้าหนังศีรษะและตุ่มรากผมก็เสียสมดุล รากผมไม่แข็งแรง และหลุดร่วงได้ง่าย หนังศีรษะแห้งเป็นเกล็ด เกิดเป็นรังแค
ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงสารเคมีเหล่านี้ และหันกลับไปใช้แชมพูธรรมชาติ โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการทำแชมพูใช้เองโดยใช้สมุนไพรธรรมชาติ
สมุนไพรที่คนโบราณนำมาใช้ในการดูแลเส้นผมและหนังศีรษะนั้น เป็นสมุนไพรใกล้ตัวปลูกไว้ริมรั้วบ้าน หาได้ง่าย นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น
มะกรูด ทำให้ผมนิ่มสลวย
ขิงแก่ บรรเทาอาการผมร่วง
ใบหมี่ ช่วยให้ผมขึ้นดกดำ
เสลดพังพอน แก้พิษแพ้ต่างๆ
ใบบัวบก บำรุงรากผม กระตุ้นการงอกของผม
ประคำดีควาย แก้ชันตุ แก้รังแค แก้เชื้อรา (ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ประจำ ใช้เมื่อมีปัญหา และเลิกใช้เมื่อหายดีแล้ว)
กะเม็ง บำรุงรากผม
เถาตำลึง, ตะไคร้ แก้ผมแตกปลาย
มะรุมทั้งห้า ช่วยรักษาหนังศีรษะและรังแค
สมุนไพรที่ใช้ในการดูแลสุขภาพผมและหนังศีรษะ ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายมีอยู่ทั่วไปราคาถูก ที่ใช้บ่อย ได้แก่
น้ำซาวข้าว
ในอดีตคนไทยโบราณมีการใช้ “น้ำซาวข้าว” มาสระผม ซึ่งจะช่วยบำรุงเส้นผมให้นุ่มลื่น ไม่เป็นรังแค และมีกลิ่นหอมของน้ำซาวข้าว
ถ้าจะให้ดีให้ใช้น้ำซาวข้าวที่เก็บไว้หลายวันหรือที่เรียกว่า “น้ำมวกส้ม” ซึ่งเมื่อนำมาสระผมจะทำให้ผมเป็นเงางามกว่าน้ำซาวข้าวธรรมดา และยังใช้สระผมร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นได้ อีกหลายตำรับ ไม่ว่าจะเป็นยาสระผมน้ำซาวข้าวใบหมี่ ตำรับยาสระผมมะกรูดและน้ำข้าวกล้องปั่น ตำรับของสาวภูไท นอกจากนี้รำข้าวยังช่วยปลูกผมได้อีกด้วย ซึ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาที่ช่วยให้คนพึ่งตัวเองได้
มะกรูด
ชื่ออื่น : มะกรูด มะหูด (หนองคาย) ส้มมั่วผี (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.
สรรพคุณ : การใช้มะกรูดสระผมน่าจะรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ วิธีการสระ บ้างก็ใช้ผลดิบผ่าแล้วบีบน้ำสระโดยตรง บ้างก็นำไปเผา หรือต้มก่อนสระ มะกรูดยังมีใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งระบุไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ ว่าจะต้องมีผลมะกรูดและใบส้มป่อยประกอบในพิธีด้วย เข้าใจว่าน่าจะใช้เพื่อการสระผมนั่นเอง น้ำมะกรูดมีรสเปรี้ยว มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ ช่วยปรับสภาพหนังศีรษะ ช่วยปรับค่า pH ของเส้นผมที่มีค่าความเป็นด่างสูง ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้แชมพู อีกทั้งยังช่วยบำรุงผมไม่ให้หงอกก่อนวัย ด้วยองค์ประกอบของสารไนอาซีน เหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และกรดอินทรีย์อื่น ๆ ผิวของมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะทำให้เส้นผมนุ่ม มีน้ำหนัก เงางาม ดกดำ และไม่มีรังแค
น้ำมันมะกรูดที่มีในผิวมะกรูดจะไปซ่อมชั้นเคอราตินให้เป็นมันเงา ผมมีน้ำหนัก น้ำมะกรูดช่วยรักษาแผลบนหนังศีรษะและขจัดรังแคไปในตัว
วิธีใช้ : นำผลของมะกรูดปิ้งไฟให้สุก ผ่าครึ่งนำผลมะกรูดที่ผ่าครึ่งถูบริเวณศีรษะ หรือนำไปผสมกับน้ำอุ่น เมื่อสระผมเสร็จแล้วเอาน้ำมะกรูดสระซ้ำ โดยใช้มะกรูดครึ่งซึกขยี้ไปบนผม น้ำมะกรูดเป็นกรดอ่อนๆ จะช่วยให้ผมสะอาด น้ำมันหอมระเหยจะทำให้ผมชุ่มชื้นเป็นเงางามและจัดทรงง่าย
ใบหมี่
ใบหมี่เป็นหนึ่งในพืชเหล่านี้ที่ให้สารเมือกที่มีประโยชน์ทางเครื่องสำอาง ทำให้ผมนุ่มสลวยเป็นเงางาม ช่วยให้ผมขึ้นดกดำ
ข้อมูลทั่วไปของใบหมี่
ใบหมี่เป็นพืชในท้องถิ่น หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ชาวบ้านนิยมนำมาใช้สระผมเนื่องจากมีสารเมือก (mucilage) ที่มี polysaccharide เป็นองค์ประกอบหลัก สารสกัดจากใบหมี่มีสารสำคัญที่มีสมบัติเป็นสารเพิ่มความหนืดสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยาที่ใช้ภายนอก ใบหมี่ มีชื่อในตำรับยาล้านนาว่า หมีเหม็น มีชื่อในท้องถิ่นอื่นในภาคเหนือว่า มะเย้อ, ยุบเหยา, หมีเหม็น, ยุกเยา, ยุบเย้า, ดอกจุ๋ม (ลำปาง), หมี่, ตังสีไพร (พิษณุโลก), เส่ปึยขู้ (กะเหรี่ยง, แม่ฮ่องสอน), หมูเหม็น (แพร่) ในภาคกลางว่า อีเหม็น (กาญจนบุรี), อีเหม็น(ราชบุรี) ในภาคตะวันออกว่า กำปรนบาย (จันทบุรี), หมูทะลวง, มะเย้อ (ชลบุรี),ยุบเหยา, หมีเหม็น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า มี่ (อุดรธานี) ในภาคใต้ว่า ทังบวน (ปัตตานี), มือเบาะ (มลายู, ยะลา), ม้น(ตรัง) ใบหมี่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Litsea glutinosa (Lour.) C.B. Rob., L. sebifera Blume, L. Chinensis Lam. แต่ไม่มีชื่อภาษาอังกฤษ และอยู่ในวงศ์ LAURACEAE
ใบ หมี่เป็นไม้ยืนต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายใบกลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบเป็นครีบหรือกลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขน ก้านใบยาว มีขน ดอกช่อซี่ร่มออกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่คนละต้น ช่อดอกตัวผู้มีประมาณ 8-10 ดอก กลีบรวมลดรูปลงเหลือ 1-2 กลีบ หรือไม่มีเลย รูปขอบขนาน ขอบกลีบมีขน เกสรตัวผู้มี 9-20 อัน ช่อดอกตัวเมียกลีบรวมลดรูปเหลือเพียงเล็กน้อยหรือไม่มี ผลสดรูปทรงกลมเมื่อสุกสีม่วงเข้ม ผิวมันส่วนที่ใช้ประโยชน์ทางยาและเครื่องสำอางของใบหมี่ คือ ราก เปลือกต้น ใบ เมล็ด และยาง ใบหมี่มีข้อบ่งใช้ทางเภสัชกรรมล้านนา คือ รากแก้ไข้ออกฝีเครือ แก้ลมก้อนในท้อง แก้ฝี และแก้ริดสีดวงแตก4 ส่วน ข้อบ่งใช้ทางแพทย์แผนไทย คือ รากแก้ปวดตามกล้ามเนื้อ เปลือกต้นใช้แก้ปวดมดลูก แก้คัน แก้อักเสบ แก้แสบตามผิวหนัง แก้บิด ใบใช้แก้ปวดมดลูก แก้ฝี แก้ปวด ถอนพิษร้อน เมล็ดใช้ตำพอก แก้ปวดฝี แก้พิษอักเสบต่างๆ ยางใช้แก้บาดแผล แก้ฟกช้ำ
สารสำคัญและการศึกษาฤทธิ์ในด้านต่างๆ ของใบหมี่
สารสำคัญที่มีในใบหมี่ ได้แก่ actinodaphnine, boldine, iso-boldine, laurelliptine, N-acetyl- laurelliptine, laruotetanine, N-acetyl-laurotetanine, N-methyl-laurotetanine, liriodenine, Litsea arabinoxylan PPS, litseferine, polysaccharide, reticulineและ sebiferine
มะคำดีควาย (ประคำดีควาย)
ชื่ออื่น :ส้มป่อยเทศ (ภาคเหนือ) มะชัก ชะแช ชะเหล่เด่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sapindus rark A.DC.
สรรพคุณ : ใช้ผล มีรสขม แก้ชันตุ แก้รังแค
วิธีใช้ : ใช้ผลมะคำดีควายทุบพอแหลก ต้มในน้ำให้เดือด นำน้ำที่ได้สระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะทำให้หนังศีรษะสะอาด ป้องกันการเกิดรังแค แก้โรคชันตุ แต่ต้องระวังอย่าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะประคำดีควายมีฤทธิ์แรง ควรหยุดใช้เมื่อหมดปัญหา
ว่านหางจระเข้
ชื่ออื่น :ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ) หางตะเข้ (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aloe barbadensis Mill.
สรรพคุณ : วุ้นในใบว่านหางจระเข้ที่แก่มีสาร Aloeemodin, Aloesin, Aloin ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรัง และช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ วุ้นในใบมีสรรพคุณรักษาแผล ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
วิธีใช้ : นำว่านหางจระเข้ที่แก่มาปอกเปลือก เอาแต่ส่วนที่เป็นวุ้น นำมาบดแล้วเอาวุ้นประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ เวลาสระผมหยดน้ำวุ้นจากว่านหางจระเข้ขยี้ผมให้ทั่วทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาทีแล้วล้างออกให้สะอาด ช่วยบำรุงหนังศีรษะ ช่วยลดอาการคัน
ดอกอัญชัน
ชื่ออื่น : แดงชัน (เชียงใหม่) เอื้องชัน (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clitoria ternatea Linn.
สรรพคุณ : ใช้กลีบดอกสด ตำให้ละเอียด นำน้ำที่ได้ชะโลมผม จะช่วยให้ผมดกดำเป็นเงางาม
วิธีใช้ : ใช้กลีบดอกสดของดอกอัญชันตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ กรองกากออก นำน้ำที่ได้ชะโลมผมทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วล้างออก จะช่วยให้ผมดำเป็นเงางาม ในสมัยก่อนคนชอบนำดอกอัญชันสดมาเขียนคิ้วเด็กอ่อน เพราะเชื่อว่าจะทำให้คิ้วดก และดำ
สูตรสมุนไพรสำหรับผม
สูตรยาสระผมสมัยคุณตา คุณยาย
ใช้น้ำซาวข้าว 1 ถ้วย มะกรูดประมาณ 3 – 4 ลูก นำมาเผาจนนิ่มดีแล้ว เอามาขยำกับน้ำซาวข้าว ทิ้งไว้ให้เย็น กรองเอาน้ำมาสระผม หมักผมทิ้งไว้ประมาณ 15 – 20 นาที สูตรนี้จะทำให้เส้นผมมีสุขภาพดี ช่วยปรับสภาพหนังศรีษะให้เป็นกลางและรักษาแผลบนหนังศรีษะ ป้องกันและขจัดรังแคไปในตัว
แก้ปัญหาผมร่วง
ใช้ขิงแก่นำมาบดแล้ว ห่อด้วยผ้าขาวบาง นำเอาไปอบหรือนึ่งจนร้อน นำห่อขิงมาคลึงที่หนังศีรษะให้ทั่วเป็นเวลานานประมาณ 15 – 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะช่วยกระตุ้นรากผมให้แข็งแรง และเส้นผมไม่หลุดร่วง
ผมร่วงจากเชื้อรา
ใบทองพันชั่ง ใบทองพันชั่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา หลังสระผมให้สะอาดด้วยมะกรูดเผาผสมกับน้ำซาวข้าว เอาใบทองพันชั่งตำจนละเอียดผสมน้ำพอเหนียว นำไปพอกบริเวณศีรษะที่ผมร่วง ให้ใช้ผ้าคลุมไว้ที่ศีรษะหนึ่งคืน แล้วล้างออก ทำติดต่อกัน 15-30 วัน
น้ำมันงาบริสุทธิ์
น้ำมันงามีสรรพคุณด้านแบคทีเรีย รา และไวรัส สามารถแก้การอักเสบ ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการคัน ช่วยบำรุงและเคลือบเส้นผม ป้องกันการแก่ตัวและยืดอายุเซลล์ผิวหนัง กระตุ้นการงอกของเส้นผม และเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตรอบๆ รูขุมขนบนหนังศีรษะ ใช้น้ำมันงานำมาทาบริเวณที่ผมร่วง วันละหลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งผมเริ่มขึ้น
น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์
ช่วยรักษาสุขภาพของหนังศรีษะ เพราะมีสารปฏิชีวนะ (จากโนโนลอริน) และสาร antioxidant (จากสารโทโคทรินนอลในวิตามินอี) สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ โปรโตชัว และไวรัส ช่วยปรับสภาพผม เพราะมีวิตามินอีที่ช่วยเสริมการเจริญของเส้นผม ช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพดี ช่วยลดปริมาณการสูญเสียโปรตีนของเส้นผม เพราะน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติยึดเกาะกับโปรตีนของเส้นผมได้ดี อีกทั้งมีขนาดของโมเลกุลเล็กจึงแทรกซึมเข้าไปในเส้นผมได้สะดวก
ผมแห้งแตกปลาย
ใช้ต้นตะไคร้สดๆ 2-3 ต้น ตำให้ละเอียด บีบน้ำออก (ถ้ามีน้ำน้อยให้เติมน้ำลงไปพอให้คั้นน้ำได้) กรอง นำน้ำที่ได้มานวดผม หลังจากสระผมเสร็จแล้ว ทิ้งไว้สัก 10 นาที แล้วสระผมด้วยน้ำสะอาดทำทุกครั้งที่สระผม ประมาณ 2 เดือน ผมจะกลับเป็นปกติ ใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงาบริสุทธิ์ ทาให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะ แล้วนวดก่อนสระผม ทำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ประมาณ 2-4 อาทิตย์
ที่มา :
- ข่าวสารการแพทย์แผนไทย ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2543
- บทความ “เรียนรู้แชมพูในท้องตลาด” คมสัน หุตะแพทย์ หนังสือผมสวยด้วยแชมพูธรรมชาติ สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ พฤศจิกายน 2549
- เต็ม สมิตินันทน์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า.
- สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กระทรวงศึกษาธิการ. ผลการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการผักพื้นบ้านอาหารธรรมชาติอีสาน ครั้งที่ 2. 177 หน้า.
- สรุปประชุมวิชาการ เรื่อง “บทบาทของน้ำมันมะพร้าวต่อสุขภาพและความงาม”โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา เรียบเรียงโดย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย
[1] จากบทความ “เรียนรู้แชมพูในท้องตลาด” คมสัน หุตะแพทย์ หนังสือผมสวยด้วยแชมพูธรรมชาติ สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ พฤศจิกายน 2549
4 Comments
ขอโทษนะคะที่ตอบกลับช้า เพิ่งได้เข้ามาดูค่ะ ลองใช้ต่อเนื่องกันสักสองถึงสามสัปดาห์ค่ะ สำหรับคนที่เคยผมมัน มีน้ำมันมาก ในช่วงแรกต่อมน้ำมันจะขับน้ำมันมามาก เพราะเราใช้แชมพูเคมีต่อเนื่องมานาน จะเหมือนกับการพยายามปรับเข้าสู่สมดุลของหนังศรีษะ หลังจากสามสัปดาห์หนังศรีษะจะเข้าสู่ความสมดุลจะดีขึ้นค่ะ ตอนนี้เป็นยังไงบ้างคะ เข้ามาบอกกันบ้างนะคะ
สนใจซื้อมาขายนะคะทำไงคะ
ติดต่อเราได้ทาง Line ID : raidindeejai นะคะ
สำหรับคนที่ผมมันมากๆ อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะปรับสมดุลที่หนังศีรษะได้ค่ะ
ที่อินเดีย มีสูตรสำหรับคนผมมัน เป็นการใช้ผงถั่วเขียวสระผมแทนแชมพู จะช่วยลดความมันที่หนังศีรษะได้ค่ะ
ผมมันเกิดจากการเสียสมดุลของหนังศีรษะ จากการแพ้สารเคมีที่ทำให้เกิดฟอง ที่อยู่ในแชมพูเคมีที่มีสารชำระล้างที่เรัยกว่า sls
เราตั้งใจทำผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีเพราะตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อม
ในส่วนผสมของแชมพูทั่วไปที่วางขายตามท้องตลาดล้วนมีส่วนผสมของสารเคมี แม้แต่ในแชมพูสมุนไพรแชมพูเด็ก ที่มีฟองก็มีส่วนผสมของสารเคมี sls หรือ sles ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในคนส่วนใหญ่ ลองอ่านในนี้ตรงหัวข้อ ทำไมเราจึงต้องทำผลิตภัณฑ์สูตรธรรมชาติ
https://raidindeejai.wordpress.com/2013/07/09/เรื่องราวของไร่ดินดีใจ/
หลังจากการใช้สมุนไพรสระผมในช่วงแรกหนังศีรษะกำลังปรับสภาพ ผมอาจจะมันมากขึ้น เนื่องจากเราไม่ได้ใส่สารเค มีที่ทำให้เกิดฟอง มันจะไม่ได้ล้างความมันออกเหมือนกับแชมพูทั่วไป แต่จะทำความสะอาดโดยสภาพที่เป็นกรดของมะกรูดและน้ำมันหอมระเหยที่จะช่วยปรับสภาพหนังศีรษะและเส้นผม