กิจกรรมตามฤดูกาลของไร่ดินดีใจ
July 7, 2011เผือกมัน กลอยพื้นบ้าน ความมั่นคงทางอาหารเมื่อยามขาดแคลน
July 7, 2011เขียนโดยไร่ดินดีใจ
เขียนเมื่อ ตุลาคม ๒๕๕๒
เมื่อเดินเข้าไปในนาข้าว จะมองเห็นข้าวที่แตกกอใหญ่ ขึ้นไม่เป็นระเบียบนัก ไม่เหมือนนาดำทั่วไป แต่ไม่แน่นขนัดอย่างนาหว่าน ในกอเดียวกันข้าวบางต้นออกรวงโน้มต่ำลงมา ในขณะที่บางต้นพึ่งออกรวงพ้นขึ้นมานิดเดียว ที่โคนต้นข้าวมีขุยไส้เดือนอยู่เต็มไปหมด มีผักแว่น ผักบุ้ง ขึ้นแซมอยู่ทั่วไประหว่างกอ สูงขึ้นมาเห็นแมงมุมตัวใหญ่กำลังชักใยจับแมลงอยู่ แมลงปอหลายตัวบินร่อนไปมา มีแมลงต่างๆอยู่ทั่วไป ทั้งแตนเบียน จิงโจ้น้ำ กบ เขียด และงูอ้วนตัวใหญ่ที่เลื้อยตัดหน้าไป ทำให้รู้ได้ทันทีว่าที่นี่เป็นข้าวนาโยนซึ่งผลิตด้วยวิธีเกษตรกรรมธรรมชาติ
ไร่ดินดีใจกับการเรียนรู้และพึ่งตนเองในวิถีธรรมชาติ
ที่มาของการหันมาสู่วิถีเกษตรธรรมชาติในไร่ดินดีใจเพราะเคยทำหนังสือและผลิตสื่อในเรื่องของการเผยแพร่ความรู้เรื่องเกษตรธรรมชาติ เมื่อมีลูกจึงได้ลาออกจากงาน เพราะเราไม่ต้องการจะให้ลูกเติบโตในเมืองที่อยู่กับการวิถีบริโภคที่ไม่มีทางเลือกให้กับชีวิตมากนัก และต้องการที่จะพึ่งพาตนเองในวิถีที่เป็นธรรมชาติ เราจึงมาเริ่มทำไร่ พยายามที่จะบริโภคและใช้ผลผลิตที่เกิดจากการเพาะปลูกเพื่อการพึ่งพาตนเอง โดยลดการบริโภคจากภายนอกให้น้อยที่สุดไปพร้อมๆกับการฟื้นฟูดินที่เป็นที่ไร่เก่าของพ่อกับแม่ที่จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งแต่เดิมที่ดินผืนนี้เคยผ่านการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีมานาน ด้วยวิธีการเกษตรธรรมชาติ
เรากลับมาทำไร่ที่บ้าน ตั้งแต่ต้นปี 2547 กินและใช้ผลผลิตที่เกิดจากการเพาะปลูกในไร่ ไปพร้อมๆกับการฟื้นฟูดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้ ในการปรับปรุงบำรุงดินและป้องกันศัตรูพืช
ในไร่ของเรามีการแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกไม้ป่า ไม้ผล สมุนไพร ผักพื้นบ้าน ถั่ว งา และอีกส่วนเป็นพื้นที่นาข้าว เราพยายามแปรรูปผลิตผล เพื่อใช้เองในบ้านและพึ่งพาตนเองในเรื่องรายได้โดยการจำหน่ายผลผลิตให้กับผู้ที่สนใจบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยวิถีธรรมชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยใช้พืชพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในไร่ของเรา เช่น มะกรูด ส้มซ่า ใบหมี่ ที่นำมาทำสมุนไพรสระผม ซึ่งปลอดภัยต่อตัวเราและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีธัญพืชต่างๆที่เราเพาะปลูกไร่ ซึ่งใช้บริโภคในครอบครัวและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของไร่ดินดีใจ เรามีงาดำ งาแดง และงาขาวที่เราปลูกเพื่อใช้บริโภค ช่วยกันดูแลและเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานในครอบครัว แล้วนำมาบีบเป็นน้ำมันงา ด้วยเครื่องบีบขนาดเล็กที่ใช้แรงงานของคน โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมันปิโตรเลียม ได้น้ำมันสกัดเย็น เรามีผงถั่วเขียวทำความสะอาดผิว จากถั่วเขียวที่เราหว่านในไร่ช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อใช้ทำปุ๋ยพืชสด ส่วนหนึ่งเราเก็บเกี่ยวไว้ทำพันธุ์และบริโภคในครอบครัว อีกส่วนหนึ่งเรานำมาบดเป็นผงด้วยเครื่องบดขนาดเล็ก ร่อนจนได้ผงละเอียดไว้ใช้ทำความสะอาดผิวแทนสบู่ เรามีน้ำหมักชีวภาพที่หมักจากเนื้อมะกรูดและส้มซ่า ที่หมักไว้นาน 3 เดือน เรานำมาใช้ซักผ้า ล้างจาน แทนผงซักฟอกและน้ำยาล้างจานได้ดี
การทำนาอินทรีย์ด้วยเทคนิคการโยนของไร่ดินดีใจ
เราเลือกที่จะทำนาอินทรีย์เพราะอยากจะปลูกข้าวไว้กินเอง และเชื่อมั่นในวิถีเกษตรธรรมชาติ ก่อนหน้านี้ นาผืนนี้เป็นนาเก่าแก่ ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ที่แม่ทำมาตั้งแต่เดิมแล้วให้ญาติเช่าเขาทำเป็นนาเคมี ปีละ 2 ครั้ง เราตั้งใจจะทำเป็นนาปี ใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิไว้กินเอง
เลยตั้งใจจะไม่ปลูกข้าวนาปรังเพราะอยากพักผืนดินไว้ให้ฟื้นตัว แต่ญาติที่เคยเช่าทำเสียดายผืนนาที่จะถูกทิ้งไว้เปล่าๆ จะมาทำ เราไม่อยากให้เขามาฉีดยาทำแบบเคมีอีก จึงต้องตัดสินใจทำเอง เป็นการทำนาปรังครั้งแรก เราเลือกที่จะไม่ฉีดคุมและยาฆ่าหญ้า แม้จะมีกระแสคัดค้านจากผู้คนรอบข้าง ทั้งชาวนารอบๆ และญาติๆที่หวังดี ทำให้ข้าวนาปรังปีแรกที่เราทำ มีหญ้าเต็มไปหมด จนใครๆก็ว่าเหมือนทำนาในป่าหญ้า ด้วยความที่กลัวข้าวจะไม่งาม เราจึงใส่ปุ๋ยขี้ไก่หมัก โดยใช้วิธีหว่านลงในนา ฉีดน้ำหมักชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้ร่วมกัน ต้นข้าวสมบูรณ์ดี แต่สูงเลยเข่านิดหน่อย สู้หญ้าไม่ค่อยได้ แต่โชคดีที่เราทำแบบอินทรีย์จึงไม่ประสบกับปัญหาเรื่องโรคและแมลงเหมือนที่นาข้างๆ และแถบนั้นเจอ
ในวันที่เราเกี่ยวข้าว ชาวนาแถวๆนั้น มาช่วยกันลุ้น ว่าข้าวที่ปลูกในพื้นที่หกไร่ของเราจะได้ข้าวเต็มเกวียนหรือเปล่า แต่ข้าวที่อยู่ในนาที่เต็มไปด้วยหญ้า กลับเก็บเกี่ยวได้ถึงสองเกวียนครึ่ง ชาวนาแถวนั้นรวมทั้งญาติๆและเพื่อนบ้านมาช่วยกันตวงข้าว แล้วก็ซื้อไปเก็บไว้สีกิน ทำให้เราไม่ต้องเข็นข้าวไปขาย เพราะญาติๆและเพื่อนบ้านช่วยกันซื้อกันเกือบหมด จนเราต้องกันส่วนหนึ่งเก็บไว้สีกินเอง เพราะชาวนาแถวนี้เองก็กลัวสารเคมีที่ฉีดกันเองในนาข้าว จนไม่อยากกินข้าวที่ตัวเองปลูก มีญาติคนหนึ่งบอกว่า ปีหน้าจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกข้าวกินเองโดยไม่ฉีดยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง
พอมาถึงการทำนารุ่นที่สอง จากการทำนารุ่นแรก ทำให้เราสรุปบทเรียนจากการทำนารุ่นแรก ว่าจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องหญ้าให้ได้ เพราะการทำนาหว่าน ถ้าไม่ฉีดคุมหญ้าจะไม่สามารถจัดการหญ้าได้ จะทำนาดำก็ไม่ไหว จะจ้างรถดำนาก็ต้องลงทุนสูง พอดีได้ข้อมูลมาจากพี่เต้ย (คุณดิสทัต โรจนาลักษณ์) ที่แนะนำให้ทำข้าวแบบนาโยน เพราะสามารถแก้ปัญหาเรื่องวัชพืชในนาข้าว เนื่องจากสามารถขังน้ำในนาเพื่อป้องกันเมล็ดหญ้างอก
เมื่อได้พันธุ์ข้าวหอมนิลอินทรีย์มาจากเพื่อนที่ทำนาข้าวอินทรีย์ ทางภาคอีสาน จังหวัดยโสธร และบางส่วนจากเพื่อนที่เครือข่ายอินแปง จังหวัดสกลนคร เราจึงตัดสินใจทำข้าวนาโยน
โยนข้าว ของกล้วยๆใครๆก็ทำได้
เพราะที่นาอยู่ห่างจากไร่ประมาณ20 กิโลเมตรเราจึงต้องขนกล้าไปนาตั้งแต่เช้า เพื่อไม่ให้กล้าถูกแดดแรงเกินไป วิธีการขนก็ทำได้ง่ายๆ โดยการม้วนถาดกล้าแล้วซ้อนกันเป็นชั้นๆ ได้ประมาณสามชั้น วิธีนี้จะทำให้กล้าไม่ช้ำ ไม่เสียหาย
การโยนเราใช้วิธีการโยนแล้วเดินถอยหลังไปเรื่อยๆ โดยนำถาดกล้าพลาดไว้ที่แขน แล้วเราถอดกล้าขึ้นมาครั้งละ 5-10 หลุม รากของต้นกล้าก็จะนำตุ้มๆดินติดขึ้นมาจากหลุมด้วย แล้วโยนกล้าขึ้นไปให้สูงท่วมหัว ตุ้มดินซึ่งมีน้ำหนักมากดิ่งลงมาก่อนคล้ายกับร่มชูชีพ แล้วฝังลงไปในดินเลน ทำให้ต้นข้าวตั้งขึ้น เมื่อผ่านไปหนึ่งคืน เราลองดึงกล้าขึ้นมาจะเห็นรากงอกออกมายึดกับเลนแล้ว ต้นกล้าแตกรากดีกว่าการดำ
การโยน โยนได้ง่ายไม่ยาก สมาชิกในครอบครัวมาก็ช่วยกันโยนข้าว แม่อายุ 70 ปีบอกว่าสบายดีกว่าดำ ไม่ต้องก้มไม่ปวดหลัง แม้แต่ลูกสาวอายุ 4 ขวบ ก็สามารถโยนได้ และสนุกกับการทำนามากๆ เมื่อโยนใหม่ๆ เรายังกะระยะไม่ค่อยได้ ข้าวจึงกระจายเป็นหย่อมๆ เมื่อโยนชำนาญพอ กล้าจะตกลงกระจายสวยงาม ค่อนข้างจะพอดี ตุ้มกล้าที่โยนเมื่อตกลงในเลนแล้วตั้งต้นสวยงามดี
ปัญหาในนาโยน
ปัญหาและอุปสรรคที่เราพบคือ ในขั้นตอนการเพาะกล้าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ต้องระวังอย่าให้มีเมล็ดข้าวค้างอยู่ตามขอบหลุม จะทำให้รากของต้นกล้างอกข้ามหลุม จะทำให้ตุ้มบางส่วนพันกันตอนอยู่ในถาดเพาะ เมื่อโยนแล้วไม่กระจายแต่ตกลงเป็นกลุ่ม ทำให้ต้องเสียเวลามากในการแยกตุ้มกล้าที่รากพันกันอยู่ออก
ถ้าเลนที่ตีเทือกไว้สูงต่ำไม่เท่ากัน บริเวณไหนที่ต่ำมาก น้ำจะขังสูงกว่า เมื่อโยนข้าว ตุ้มจะฝังลงไปในดินเลนไม่ค่อยดี และกล้าบางส่วนจมมิดลงไปในน้ำ และกล้าบางส่วนระลอยขึ้นมา
และสิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่ควรโยนกล้าในช่วงที่มีมรสุมเข้า ในช่วงที่เราโยนข้าวนั้น มีฝนตกหนักมาก เราระบายน้ำออกจากนาได้ไม่ทัน ทำให้มีน้ำขังสูง ทำให้กล้าบางส่วนลอยน้ำขึ้นมา และบางส่วนจมอยู่ในน้ำ ถ้านานเกินไปทำให้ข้าวของเสียหายได้
ข้าวนาโยน เติบโตดีและแข็งแรงมาก
ระเวลาหลังจากการโยนแค่ 3 วันเท่านั้นต้นข้าวก็ออกรากลงดินและตั้งตัวได้อย่างมั่นคง สามารถทนต่อทุกสภาพอากาศ แม้จะมีมรสุม ฝนตกหนัก รากก็จะยึดอยู่ในดินได้ ต้นข้าวจะไม่ลอย
เพราะปีนี้เราเตรียมดินไว้ดี ในประมาณสัปดาห์ที่สองหลังการโยน ข้าวที่โยนแตกกอสวย แข็งแรง การที่ต้นข้าวไม่เบียดกัน ทำให้มีพื้นที่ในการเจริญเติบโต แตกกอ และไม่มีโรคมากเหมือนการทำนาหว่าน ในระหว่างกอมีไส้เดือนมาขุดดินเป็นขุยอยู่ที่โคนต้นข้าว มีปู ปลา กบ เขียด และงู มาอาศัยอยู่ได้ในนา และมีพื้นที่ให้ผักต่างๆขึ้นแทรกอยู่ในนา หาเก็บกินได้อย่างสบายใจ
ทั้งๆที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย แต่ข้าวของเราก็เจริญเติบโต แตกกอดี สีเขียวเข้มสวย ไปจนกระทั่งออกรวงก็ยังไม่เจอปัญหาอะไร แต่ในพื้นที่รอบๆมีปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด ที่นาข้างๆที่ทำเกษตรเคมีข้าวแห้งตายเป็นหย่อมๆ ในนาของเราที่ไม่ได้ใช้สารเคมี มีแมลงต่างๆอยู่เต็ม ทั้งแมงมุม แมลงปอ จิงโจ้น้ำ แตนเบียน และแมลงวันตาโต ซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของเพลี้ย
เมื่อนาข้างๆรีบเกี่ยวข้าวหนีเพลี้ยระบาด ทำให้ในนาของเรามีเพลี้ยกระโดดลงรอบๆ แต่ไม่ได้ระบาดเข้าไปในนามาก ข้าวที่อยู่ตามริมนา ถูกมันดูดน้ำเลี้ยงต้นข้าวจนใบเหลือง รวงที่ออกก่อนลีบเบาไม่มีน้ำหนัก เราจึงตัดสินใจหว่านบอระเพ็ดที่สับละเอียดลงไปในนา แล้วฉีดน้ำส้มควันไม้และน้ำหมักชีวภาพจากมะกรูดเพื่อป้องกันมันลุกลามเข้าไปมากกว่านี้
หลังจากนั้น ข้าวเริ่มออกรวงมากขึ้น รวงข้าวที่ออกใหม่ รวงใหญ่ สวยงาม มีน้ำหนักดี ปีนี้คงได้ข้าวดีพอใช้ได้ ทำให้เราเริ่มมั่นใจในวิถีเกษตรธรรมชาติที่สามารถต้านทานปัญหาที่พบได้ในเกือบทุกรูปแบบ การทำข้าวนาโยนจึงเป็นรูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีการทำเกษตรธรรมชาติแบบที่ไม่ต้องการใช้สารเคมีในแปลงนา สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กำพล กาหลง ไร่ดินดีใจ 95 หมู่ 8 ตำบลเขากวางทอง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี 61110 โทร.086-0598939
Email: raidindeejai@gmail.com
หรือที่ website : www.raidindeejai.org
เทคนิคการทำข้าวนาโยนของไร่ดินดีใจ
เราใช้ถาดเพราะข้าวจำนวน 70 ถาดต่อไร่ต่อเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก5 กิโลกรัม
1 เริ่มจากเตรียมดินสำหรับเพาะกล้า โดยร่อนดินเพื่อกำจัดเมล็ดวัชพืช เศษหญ้า และเศษหินออก
2 หลังจากนั้นเราขังน้ำไว้ในนาแล้วไถกลบฟางข้าว รอจนซังข้าวเปื่อยเน่าซึ่งใช้เวลาประมาณ10-
15 วัน
3 จากนั้นเราปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกันเพื่อใช้วางถาดเพราะกล้าทั้งหมด
4 เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก โดยนำมาแช่น้ำที่ผสมน้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มควันไม้ไว้ 1 วัน จากนั้นนำมาบ่มในกระสอบป่าน รดน้ำให้ชุ่มทิ้ง 1 คืน จะเห็นเมล็ดข้าวงอกหน่ออ่อนๆเล็กน้อย
5 เรานำดินที่เตรียมไว้ มาแช่น้ำแล้วเราขยำให้เป็นดินเลน
6 เราวางถาดเพาะกล้าเป็นแถวๆติดๆกันเป็นแนวยาว แล้วเว้นช่องว่างระว่างแถวไว้เพื่อให้เราเข้าไปทำงานสะดวก คล้ายๆกับการแปลงผัก
7 โดยนำดินเลนมาใส่ในถาดเพาะ แล้วใช้มือปาดดินเลนให้ลงหลุมจนเกือบเต็ม
8 หว่านเมล็ดข้าวลงไปในถาด ให้เมล็ดกระจายทั่วๆกัน จากนั้นเราใช้ไม้กวาดอ่อนกวาดเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ลงหลุม อย่าให้เมล็ดข้าวค้างอยู่ตามปากหลุม(เพื่อป้องกันไม่ให้รากของต้นข้าวงอกข้ามหลุม ทำให้ตุ้มพันกัน จะทำให้มีปัญหาในขั้นตอนดึงข้าวออกมาจากถาด เพราะรากกล้าจะพันกันยุ่ง ทำให้เวลาโยนแล้วข้าวไม่แตกกระจาย)
9 จากนั้นใช้แสลนคลุมปิดไว้เพื่อบังแดด รักษาความชื้นในดิน และป้องกันไม่ให้ดินและเมล็ดพันธุ์ข้าวกระจายตอนรดน้ำ แล้วหมั่นรดน้ำด้วยฝักบัวให้ดินเปียกอยู่เสมอ เพราะกล้าข้าวต้องการความชื้นที่มากพอสำหรับการงอก เมื่อครบ 3 วัน ต้นกล้าจะขึ้นเขียวเป็นต้นเล็กๆ ก็นำแสลนออกได้ แล้วหมั่นรดด้วยฝักบัวน้ำ เช้า- กลางวัน – เย็น หรือถ้าต้นกล้าเหี่ยวจะรดน้ำบ่อยกว่านั้นก็ได้
10 เมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ 12 – 15 วัน เป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการนำไปโยน (แต่ถ้าโยนไม่ทัน ต้นกล้าอายุมากกว่านั้นก็ยังสามารถนำไปโยนได้)
11 เราจึงเตรียมพื้นที่นาสำหรับการโยนข้าว โดยการตีเลนให้เละและลู่ให้เรียบ เหมือนกับการเตรียมนาหว่านน้ำตม เพียงแต่เราไม่ต้องระบายน้ำออก ให้น้ำอยู่ที่ระดับพอท่วมหลังปู เมื่อในนามีน้ำพอเหมาะ เราจึงไปโยนข้าวกัน
12 ก่อนโยนต้องงดให้น้ำกล้าหนึ่งวันเพื่อสะดวกในการถอนกล้า การโยนข้าวต้องทำให้เสร็จภายในหนึ่งถึงสองวัน ไม่อย่างนั้นเลนที่ตีไว้จะนอนก้นในนาและไม่สามารถรองรับตุ้มกล้าที่โยนลงไปให้ตั้งได้ (แต่ถ้าเลนในนาของใครดี จะนอนก้นช้าสามารถอยู่ได้นานกว่านั้นประมาณสามถึงสี่วัน)